เนื่องจากคุณผู้หญิงที่สวมรองเท้าส้นสูงเป็นประจำ จะมีอาการ เช่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เกิดโรคข้อนิ้วหัวแม่เท้าเสื่อม แข็งเก ผิดรูปหรือซ้อน รวมทั้งอาจเกิดรอยด้านบริเวณผิวหนังที่ถูกเสียดสี เป็นตาปลา เกิดก้อนแข็งๆ ปูดนูนขึ้น เจ็บบริเวณเล็บหรือเล็บขบ อีกทั้งขณะที่สวมรองเท้าส้นสูง อวัยวะบางส่วนของร่างกายต้องรับบทหนักเริ่มที่...
หลังส่วนกลาง: จะต้องบิดโค้งเพิ่มมากขึ้น
เชิงกราน: ถูกยกอย่างไม่สมดุล ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณเชิงกรานอ่อนแอ
เข่า: ต้องรับน้ำหนักมากขึ้น อาจทำให้เกิดอาการปวด โรคกระดูกหรือข้อต่ออักเสบตามมา
น่อง: การเดินเขย่งจะทำให้กล้ามเนื้อน่องสั้นขึ้น
ข้อเท้า: การขยับข้อเท้าในขณะสวมรองเท้าอยู่นั้น หากทำผิดจังหวะอาจทำให้ข้อเท้าแพลง
เท้า: ส่วนที่รับบทหนัก เพราะต้องรักษาดุลไปด้านหน้า ส่งผลต่อกระดูกที่ฝ่าเท้าอาจมีอาการปวดเมื่อยจนอักเสบ การใส่ส้นสูงเกิน 1 นิ้วครึ่งจะทำให้แนวกระดูกสันหลังช่วงล่างแอ่นมากกว่าปกติ ซึ่งจะนำมาสู่การปวดหลัง
อาการทั้งหมดที่กล่าวมา ไม่จำเป็นว่าจะต้องเกิดขึ้นกับคุณผู้หญิงทุกคนเสมอไป เพราะแต่ละคนมีรูปเท้าหรือลักษณะเท้าที่แตกต่างกัน เช่น รูปเท้าเรียว อวบนูน จะไม่ค่อยเกิดปัญหา แต่รูปเท้าแบนราบ มักเกิดอาการปวดเมื่อย ทั้งนี้เพราะฝ่าเท้าจะสัมผัสกับพื้นรองเท้ามากเป็นพิเศษ ประกอบกับพื้นรองเท้าส่วนใหญ่จะแคบ ทำให้เท้าถูกบีบรัดตัว ผู้มีรูปเท้าแบน จึงควรเลือกรองเท้าพื้นกว้างๆ จะปลายกว้างหรือปลายแหลมก็ได้
หากมีอาการปวดเมื่อยเท้า ควรแช่ด้วยน้ำอุ่นจัด ด้วยระดับน้ำที่สูงถึงครึ่งน่อง นาน 10-15 นาที พร้อมทั้งออกกำลังเท้าและนิ้วเท้า โดยกระดกปลายเท้าขึ้น-ลง เหยียดงอนิ้วเท้า หันฝ่าเท้าสลับเข้า-ออก หรือใช้มือบีบนวดบริเวณอุ้งเท้า ซึ่งเป็นส่วนที่มีเส้นเลือดและเส้นประสาทจำวนวนมาก จะช่วยบรรเทาอาการเมื่อยลงได้
สำหรับผู้ที่มีอาการเท้าแพลง เบื้องต้นในระยะ 1-2 วันแรก ใช้น้ำแข็งประคบ 5-10 นาที วันละ 2-3 ครั้ง พันด้วยผ้ายืด พักการใช้งานข้อเท้า หากอาการยังไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อใช้งานเท้าหนัก ก็ควรดูแลเท้าด้วยวิธีง่ายๆ ทำได้ที่บ้าน อย่างการทำ "สปาเท้า" เพราะแค่มีมะขามเปียก สบู่เหลวหรือสบู่ก้อน แปรงสีฟันเก่าที่เลิกใช้ สำลี โทนเนอร์ และโลชั่นน้ำนม ก็สามารถทำได้แล้ว เริ่มจากการขัดด้วยมะขามเปียก ตามด้วยสบู่ ขัดไปเรื่อยๆ ให้รู้สึกผ่อนคลาย นำแปรงสีฟันมาถูบริเวณรอยดำ รอยด้าน จากนั้นใช้สำลีชุบโทนเนอร์ ขัดบริเวณที่ด้าน เช่น ส้นเท้า สุดท้ายค่อยลงโลชั่นน้ำนมให้ทั่ว คุณก็จะได้เท้าที่สะอาด ผ่อนคลาย หากพอมีเวลาควรทำสปาเท้าอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์
เห็นทีคุณผู้หญิงคงจะต้องพิถีพิถันกับการดูแลเท้าให้มากขึ้น หากไม่สามารถเลิกสวมรองเท้าส้นสูงทั้งๆ ที่มีอาการปวดเมื่อย ก็ควรลดความสูงลงบ้าง รวมทั้งการฝึกเดิน-ยืน โดยการเขย่ง คล้ายๆ กับเวลาที่สวมรองเท้าส้นสูงเพื่อสร้างความคุ้นเคย และอย่าลืมดูแลเท้าตามคำแนะนำ เพื่อสุขภาพเท้าที่ดีและการเดินบนรองเท้าส้นสูงคู่สวยด้วยความมั่นใจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น